เป็นไกด์/มัคคุเทศก์เสียภาษีอย่างไร ?

เป็นไกด์/มัคคุเทศก์เสียภาษีอย่างไร ?

ต้องขอบอกเพื่อน ๆ เกี่ยวกับการเสียภาษีประจำปีของไกด์/มัคคุเทศก์ส่วนบุคคลแบบเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้ ปกติรายได้จากค่าเป็นไกด์ สามารถเป็นได้ทั้ง ม.40(1) และ ม.40(2)

ม.40(1) เป็นรายได้จากค่าจ้างแรงงาน เป็นหลัก เช่น การรับเงินเดือนจากทางบริษัท เป็นต้น

ม.40(2) เป็นรายได้อะไรก็ได้ที่ได้รับจากการว่าจ้างของผู้อื่นอาจจะเป็นแรงงานหรือไม่ใช่แรงงานก็ได้

ถ้าเป็นรายได้จากการเป็นพนักงานประจำ คือ ม.40(1) ทางบริษัทผู้ว่าจ้างเขาจะเป็นผู้คำนวณให้ และหักภาษี ณ ที่จ่ายของเราส่งสรรพากรล่วงหน้าไปเลย ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้ (ภ.ง.ด.1) เราสามารถนำมาหักออกจากภาษีทั้งปีที่เราจะต้องเสียให้แก่กรมสรรพากรได้ ถ้าทางบริษัทหักมากเกินไปทางเราก็สามารถขอคืนได้ แต่ถ้าหักน้อยเกินไปเราก็ต้องเสียเพิ่ม

ในกรณีที่เป็นไกด์อิสระไม่ได้รับเงินเดือนประจำก็ถือว่าเป็น ม.40(2) ถ้าผู้ว่าจ้างเราเป็นรูปบริษัทเขามักจะหักเรา 3% ของค่าจ้างในแต่ละครั้งที่เขาจ่ายเงินเรา แล้วเขาก็จะออกหนังสือรับรองการหักเงินภาษี ณ ที่จ่ายนี้ (ม.50 ทวิ) ให้แก่เราทุกครั้ง เราก็สามารถใช้หนังสือรับรองนี้ไปเป็นหลักฐานการหักออกจากภาษีทั้งปีของเราได้ ทำนองเดียวกับ ภ.ง.ด.1 ที่นายจ้างนำส่งให้เราทุกเดือน

ในกรณีที่ท่านมีรายได้ทั้งเป็นพนักงานประจำ และรับงานอิสระด้วย ท่านก็มีทั้ง ม.40(1) และ ม.40(2) ก็ต้องนำรายได้ทั้งหมดไปรวมกันเป็นรายได้พึงประเมินในการคำนวณเสียภาษี ไม่มีการเสียภาษีครึ่งปี สำหรับรายได้ประเภท ม.40(1) และ ม.40(2)

วิธีการคำนวณภาษี :

ยอดเงินได้พึงประเมินทั้งปีของประเภท (1) และ (2) รวมกัน xxxx.....(1)
หัก ค่าใช่จ่าย (50% ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 100,000 บาท) xxxx.....(2)
(1) – (2) เหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย xxxx.....(3)
หัก ค่าลดหย่อนต่าง ๆ (ตามที่กฎหมายกำหนด) เช่น
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว (60,000 บาท) xxxx.....
- ค่าลดหย่อนบุตร (คนละ 30,000 บาท) xxxx.....
- ค่าเบี้ยประกันชีวิต (ตามจริงไม่เกิน 100,000 บาท) xxxx.....
ฯลฯ xxxx.....
รวมค่าลดหย่อนต่าง ๆ xxxx.....(4)
(3) - (4) เหลือเงินได้จากค่าลดหย่อน xxxx.....(5)
หัก ค่าลดหย่อนจากการบริจาค ตามที่กฎหมายกำหนด xxxx.....(6)
(5) - (6) เหลือเงินได้สุทธิ xxxx.....(7)
นำเงินได้สุทธิตาม (7) ไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ในตารางที่แนบ) จะได้จำนวนภาษีที่ต้องเสียในปีนั้น
สำหรับปีภาษี 2567
เงินได้สุทธิ (ส่วนที่เกิน) อัตราภาษีร้อยละ % เสียภาษีสูงสุด
1-150,000 ยกเว้น -
150,001-300,000 5 7,500
300,001-500,000 10 20,000
500,001-750,000 15 37,000
750,001-1,000,000 20 50,000
1,000,001-2,000,000 25 250,000
2,000,001-5,000,000 30 900,000
5,000,001 ขึ้นไป 35

*หมายเหตุ เงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาทได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 470 พ.ศ. 2551
สูตรการคำนวณ (เงินได้สุทธิ-เงินได้สุทธิสูงสุดขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี + ภาษีขั้นก่อนหน้า

ตัวอย่าง สมมติเรามีรายได้ทั้งปี 2567 รวมกัน 400,000 บาท ถ้ามีสถานณะแต่งงานแล้ว คู่สมรสมีเงินได้แต่แยกกันหักภาษี มีบุตร 1 คน มีเบี้ยประกันชีวิต 50,000 บาท และมีหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้ว่าจ้าง 5,000 บาท

วิธีคำนวณภาษีเป็นดังนี้

รายได้ทั้งปี 400,000 บาท
หัก ค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% สูงสุด 100,000 -100,000 บาท
หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว -60,000 บาท
หัก ค่าลดหย่อนบุตร - 30,000 บาท
หัก ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต(ไม่เกิน 100,000) - 50,000 บาท
รวมได้รายหลังหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อน เท่ากับ 160,000 บาท
เพราะฉะนั้นจะมีเงินได้สุทธิเพื่อนำไปคำนวณภาษีจำนวน 160,000 ได้รับการยกเว้น 150,000 บาท ส่วนที่เกินมา 10,000 บาท จะเสียภาษีที่อัตราร้อยละ 5

วิธีคำนวณ

เงินได้สุทธิ 160,000 บาท ลบด้วย เงินได้สุทธิสูงสุดขั้นก่อนหน้า 150,000 บาท = 10,000 บาท นำส่วนที่เกินมา คูณด้วยอัตราภาษี = 10,000 * 5/100 = 500

สรุปได้ว่าในปีภาษี 2567 จะเสียภาษีบุคคลธรรมดาทั้งสิ้น 500 บาท แต่มีภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ในปี 2567 จำนวน 5,000 บาท ทำให้เราจ่ายภาษีเกินไป 5,000 - 500 = 4,500 บาท เราสามารถขอคืนภาษีที่จ่ายเกินนี้จากสรรพากรได้

*ทั้งนี้หากมีรายการลดหย่อน หรือมีเงินบริจาคอื่น ๆ จะทำให้ให้การคำนวณภาษีเปลี่ยนไปจากจำนวนดังกล่าว

รายได้ที่สรรพากรรู้แน่ ๆ ว่าท่านมีรายได้คือ รายการที่ท่านถูกหัก ณ ที่จ่าย 3% เพราะทางผู้ว่าจ้างเขาจะต้องนำส่งสรรพากร ส่วนใหญ่จะเป็นพวกบริษัท ส่วนบุคคลทั่วไปไม่ได้หัก ณ ที่จ่ายจากท่าน

กำหนดการยื่นภาษีบุคคลธรรมดา

1. หากยื่นแบบกระดาษสามารถยื่นได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่ใกล้ที่สุด (ค้นหาจาก Google ได้เลย) โดยยื่นภายใน 31 มีนาคม ของทุกปี

2. หากยื่นแบบออนไลน์สามารถยื่นได้ที่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ โดยยื่นภายใน 08 เมษายน ของทุกปี