นิติบุคคลทำบัญชีเองได้ไหม?

นิติบุคคลทำบัญชีเองได้ไหม?

นิติบุคคลจะทำบัญชีเองได้หรือไม่ เพราะการทำบัญชีและภาษีค่อนข้างมีความซับซ้อน หลายขั้นตอน อีกทั้งเอกสารค่อนข้างเยอะ ตลอดจนกฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลต้องมีผู้จัดทำบัญชีตามหลักการบัญชี เพื่อส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร ประกันสังคม แต่ความจริงแล้วสามารถทำบัญชีบริษัทเองได้ หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

กิจการมีพนักงานที่จบด้านบัญชี และมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์กำหนด สามารถทำบัญชีเบื้องต้นเองได้ จากนั้นจ้างผู้ตรวจสอบบัญชี เพื่อตรวจสอบ ออกรายงานผู้สอบบัญชี เพื่อยื่นงบการเงินและภาษีประจำปี

กรณีที่กิจการไม่มีผู้ทำบัญชี กิจการสามารถทำรายรับรายจ่ายต่างๆ เบื้องต้นลงสมุด บันทึกไว้ใน Excel หรือใช้บริการโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป พร้อมกับเก็บเอกสารให้ครบทุกใบ จากนั้นจ้างสำนักงานบัญชีที่รับทำบัญชี ลงรายการบัญชีตามหลักการบัญชีให้ได้

คุณสมบัติของผู้ทำบัญชี

ทั้งนี้ สำหรับกิจการที่ต้องการทำบัญชีเอง หรือต้องการจ้างนักบัญชีมาช่วยทำบัญชีให้นั้น นักบัญชีจะต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดไว้ ดังนี้

1.ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมและรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ต้องมีวุฒิการศึกษาขั้นต่ำระดับ ปวส.ทางการบัญชี ปริญญาตรีทางการบัญชีขึ้นไป

2.ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท หรือมีสินทรัพย์รวม หรือรายได้รวมเกิน 30 ล้านบาท ต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีทางการบัญชีขึ้นไป

3.บริษัทมหาชน ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีทางการบัญชีขึ้นไป

4.นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศประกอบธุรกิจในไทย ต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีทางการบัญชีขึ้นไป

5.กิจการร่วมค้า ต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีทางการบัญชีขึ้นไป และจะต้องมีเอกสารที่ต้องใช้ในการประกอบการลงบัญชี ได้แก่ หนังสือ บันทึก ใบเสร็จ หรือเอกสารต่างๆ ที่ใช้เพื่อเป็นหลักฐานในการลงรายการในบัญชี ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

1).เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีที่จัดทำขึ้นโดยผู้จัดทำบัญชี เพื่อออกให้แก่บุคคลภายนอก

2).เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีที่จัดทำขึ้นโดยผู้จัดทำบัญชี เพื่อใช้ในกิจการของตนเอง

3).เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีที่จัดทำขึ้นโดยบุคคลภายนอก รวมถึงบัญชีที่ผู้จัดทำบัญชีเองต้องทำ ประกอบด้วย บัญชีรายวัน เช่น บัญชีรายวันซื้อ รายวันขาย รายวันทั่วไป บัญชีเงินสด บัญชีเงินฝากธนาคาร บัญชีแยกประเภท เช่น บัญชีแยกประเภทสินทรัพย์ หนี้สินและทุน ชีแยกประเภทรายได้และค่าใช้จ่าย บัญชีแยกประเภทลูกหนี้ บัญชีแยกประเภทเจ้าหนี้ และบัญชีสินค้าคงคลัง

ประโยชน์ของการทำบัญชี

การทำบัญชีมีประโยชน์มากกว่าผลเสียอยู่แล้วในหลายด้าน เช่น

เพื่อเป็นข้อมูลช่วยในการวางแผนหลาย ๆ ด้านของกิจการ เช่น วางแผนกำไร และค่าใช้จ่ายของกิจการ วางแผนการตลาดและการลงทุน

เพื่อให้กิจการมีระบบควบคุมภายในที่ดี โดยเฉพาะการตรวจสอบป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดได้ เนื่องจากการทำบัญชีที่ดีจะสามารถเก็บข้อมูลหลักฐานเพื่อใช้ยืนยันความถูกต้องได้

เพื่อเป็นเครื่องมือในการหาแหล่งเงินทุน เมื่อกิจการทราบผลการดำเนินการว่ามีกำไรหรือขาดทุนเท่าไร เพื่อใช้เป็นหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ และทราบฐานะทางการเงินของกิจการ ก็สามารถนำหลักฐานเหล่านี้ไปใช้ประกอบการกู้ยืมจากสถาบันการเงินได้อย่างถูกต้อง

เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนภาษีได้อย่างถูกต้องและประหยัด กิจการสามารถวางแผนว่า ควรนำรายจ่ายใดมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้บ้าง เพื่อประหยัดภาษีและทำให้การเสียภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

หรือถ้าหากมองว่าการทำบัญชีเองจะทำให้ดึงเวลาในส่วนของการพัฒนาธุรกิจเหลือเกิน อาจเปลี่ยนความวุ่นวายในการทำบัญชีนี้ ให้สำนักงานบัญชีเป็นผู้ดูแลแทนคุณได้ เพราะสำนักงานบัญชีจะให้คำปรึกษาทั้งเรื่องการเงินและภาษีได้ดี

โดยส่วนใหญ่หลังจดบริษัทเป็นนิติบุคคล กิจการมักจะจ้างสำนักงานบัญชีให้ทำทั้งบัญชี ปิดงบการเงิน และยื่นภาษีให้ เพราะถึงแม้ว่ากิจการจะเข้าเงื่อนไขสามารถทำบัญชีเองได้ แต่ก็ต้อง “จ้างผู้สอบบัญชี” ที่เป็นอิสระจากกิจการมารับรองความถูกต้องของบัญชีที่จัดทำเป็นประจำทุกปีด้วยอยู่แล้ว

ดังนั้น จึงทำให้กิจการเลือกใช้บริการสำนักงานบัญชีที่รับจ้างทำบัญชี เพื่อให้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มาดูแลเรื่องบัญชีและภาษีแบบครบทุกขั้นตอน สามารถหมดห่วงเรื่องความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น จนถูกสรรพากรตรวจสอบย้อนหลังได้