สรุปสาระสำคัญของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

สรุปสาระสำคัญของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

1. หลักเกณฑ์การเป็นสมาชิกกองทุน

1.1 กิจการที่ต้องเข้าร่วมกองทุน (บังคับ)

กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และ ไม่มีการจัดการสงเคราะห์ลูกจ้างตามกฎหมายอื่น เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนสงเคราะห์ภายในบริษัท

นายจ้างต้องดำเนินการยื่นแบบ สกล.3 เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

ตัวอย่าง: บริษัทมีพนักงาน 200 คน โดย 180 คนอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ภาคสมัครใจ) แต่ 20 คนไม่เข้าร่วม บริษัทต้องจัดให้พนักงาน 20 คนนี้เข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามกฎหมาย หมายรวมถึงหากบริษัทยังมีพนักงานที่อยู่ในระหว่างทดลองงานและยังไม่สามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ บริษัทก็ต้องจัดให้พนักงานที่อยู่ในระหว่างทดลองงานเหล่านี้เข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างไปก่อนจนกว่าพนักงานจะผ่านทดลองงานแล้วและได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วนายจ้างจึงหยุดส่งเงินให้กองทุนสางเคราะห์ลูกจ้างได้

**ลูกจ้างทุกประเภท อยู่ในบังคับนี้ได้แก่
1. ลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างชั่วคราว
2. ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างรายชั่วโมงตามผลงาน ตามฤดูกาล
3. ลูกจ้างต่างด้าว 3 สัญชาติ / ลูกจ้างต่างชาติอื่น ๆ
4. ลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่กำหนดเวลา
5. ลูกจ้างที่มีการจ้างงานหลังเกษียณอายุแม้อายุเกิน 60 ปี ก็ตาม

1.2 กิจการที่ไม่บังคับแต่สามารถเข้าร่วมได้ (สมัครใจ)

กิจการที่มีลูกจ้างแต่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. เช่น งานเกษตร งานรับใช้ในบ้าน หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร

กิจการที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 10 คน หากลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันว่าให้มีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง สามารถยื่นแบบ สกล.3/1 เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนได้

ตัวอย่าง: บริษัทมีพนักงาน 8 คน ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมตามกฎหมาย แต่หากนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันก็สามารถสมัครได้

** ข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในบังคับให้ลูกจ้างต้องเข้าเป็นสมาชิกกองทุนฯ

นายจ้างที่มีลูกจ้าง ต่ำกว่า 10 คน

นายจ้างที่จัดให้ลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กรณีลูกจ้างไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนายจ้างมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ลูกจ้างเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง)

นายจ้างที่จัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้าง ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย พ.ศ. 2567

กิจการที่มีกฎหมายกเว้น ไม่ให้นำหมวดที่ 13 กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มาใช้บังคับ เช่น กิจการ/งานประมง มูลนิธิ สมาคม งานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย โรงเรียนเอกชนเฉพาะบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น

2. ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนและการนำส่งเอกสาร

2.1 การขึ้นทะเบียนครั้งแรก

สำหรับนายจ้างที่ต้องเข้าร่วมบังคับ: ยื่นแบบ สกล.3

สำหรับนายจ้างที่สมัครใจเข้าร่วม: ยื่นแบบ สกล.3/1

หากอนุมัติจะได้รับหนังสือรับรองเป็นแบบ สกล.4 (สำหรับกรณีบังคับ) หรือ สกล.4/1 (สำหรับกรณีสมัครใจ)

2.2 การนำส่งเงินและแบบแสดงรายการ

ยื่นแบบ สกล.3 หรือ สกล.3/1 พร้อมเงินสะสมและเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการจ่ายค่าจ้าง

ตัวอย่าง: งวดค่าจ้างเดือนตุลาคม 2568 จะต้องนำส่งภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2568

2.3 การเปลี่ยนแปลงข้อมูล

กรณีมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น ชื่อบริษัท ที่อยู่ หรือจำนวนพนักงาน ต้องยื่นแบบ สกล.3/2

3. อัตราการส่งเงินสะสมและเงินสมทบ

1 ตุลาคม 2568 – 30 กันยายน 2573 : อัตราฝ่ายละ 0.25%

1 ตุลาคม 2573 เป็นต้นไป : อัตราฝ่ายละ 0.50%

นายจ้างมีหน้าที่หักเงินสะสมจากค่าจ้างของลูกจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือน และนำส่งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

4. การคำนวณเงินสะสมและเงินสมทบ

คำนวณจาก ค่าจ้างรวม เช่น ค่าล่วงเวลา (OT), ค่าตำแหน่ง, เบี้ยขยัน, ค่าเดินทาง, ค่าอาหาร และค่ากะ

ไม่รวม โบนัส หรือค่าตอบแทนที่ไม่แน่นอน

** ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 “ค่าจ้าง” หมายถึงเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในระยะเวลาปกติ เช่น รายชั่วโมง รายวัน รายเดือน หรือคำนวณตามผลงานที่ทำได้ในเวลาปกติของวันทำงาน รวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดหรือวันลาที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานแต่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย

5. กรณีการไม่นำส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบ

หากไม่นำส่งหรือส่งไม่ครบถ้วน ต้องชำระ เงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน

พนักงานตรวจแรงงานจะมีหนังสือแจ้งเตือนให้นำส่งเงินที่ค้างชำระ ภายใน 30 วัน

6. การขอรับเงินคืนจากกองทุน

6.1 กรณีลูกจ้างออกจากงาน

สิ้นสุดการจ้างงาน/ตกลงเลิกสัญญาจ้าง/นายจ้างเลิกจ้าง (ไม่ว่าจะกระทำความผิดวินัยหรือไม่)/เกษียณอายุ/ลาออก

นายจ้างต้องออกหนังสือยืนยันการสิ้นสภาพการจ้างงาน และคืนเงินสะสมพร้อมเงินสมทบให้ลูกจ้าง ภายใน 30 วัน

6.2 กรณีลูกจ้างเสียชีวิต

เงินจะตกเป็นของบุคคลที่ลูกจ้างระบุไว้ ในแบบหนังสือกำหนดบุคคลผู้จะพึงได้รับเงินฯ (สกล.5)

หากไม่ระบุ จะตกเป็นของบุตร คู่สมรส บิดา มารดา ในสัดส่วนเท่า ๆ กัน

หากไม่มีผู้รับ เงินจะตกเป็นของกองทุนสงเคราะห์

7. ประโยชน์ของกองทุนฯ

ประโยชน์ต่อลูกจ้าง

ยกระดับมาตรฐานคุ้มครองลูกจ้าง
ส่งเสริมการออมเงินให้กับลูกจ้าง (ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องการนำเงินมาลดหย่อนภาษี)
เสริมสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน
บรรเทาความเดือนร้อนให้กับลูกจ้างและเป็นการเพิ่มหลักประกันทางส้งคม

ประโยชน์ต่อนายจ้าง

แสดงถึงภาพลักษณ์ที่ดีของนายจ้าง
สร้างความสัมพันธ์อันดีภายในองค์กร
สร้างแรงจูงใจให้ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างในระยะยาว

8. บทกำหนดโทษ

นายจ้างที่ไม่ยื่นแบบแสดงรายการ หรือไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงตามที่กฎหมายกำหนด หรือแจ้งข้อมูลเท็จ

โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สอบถามเพิ่มเติม

กองคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทร. 0 2660 2060 ถึง 1

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ https://ewf.labour.go.th/2015-12-03-04-55-54