เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 141 ตอนที่ 83 ก เผยแพร่กฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ 3)
พ.ศ. 2567 กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 รัฐมันตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎ
กระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 4 แห่งกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"ข้อ 4 ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรให้เหมาจ่ายเป็นเงินในอัตราหนึ่งพันบาทต่อเดือนต่อบุตรหนึ่งคน" ให้ไว้ ณ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2567
เริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เรื่องรักษามะเร็งได้ทุกโรงพยาบาล โดยผู้ประกันตนสามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งใดก็ได้ ที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมแล้วประกันสังคมจะตามไปจ่าย ไม่ต้องรักษาเฉพาะแต่ รพ.ประกันสังคมตามสิทธิเท่านั้น
โดยเป็นไปในแนวทางที่ชื่อว่า "SSO cancer anywhere" สำหรับผู้ประกันตนในมาตรา 33 และมาตรา 39 ได้รับกาวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง สามารถเข้ารับการรักษา ได้ในโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนที่ทำเงื่อนไขร่วมกับประกันสังคม ที่มีศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
สำนักงานประกันสังคมได้เดินหน้าขยายโรงพยาบาล (รพ.) ที่เป็นคู่สัญญา 7 แห่ง และในปี 2567 ยังไม่มีโรงพยาบาลใดออกจาก คู่สัญญา ดังนั้น ในปีนี้มีสถานพยาบาลประกันสังคมทั้งหมด 271 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลรัฐบาล 174แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 97 แห่ง
โรงพยาบาล 7 แห่งที่สมัครใหม่เป็นคู่สัญญาใหม่ในปี 2568 โรงพยาบาลรัฐบาล 4 แห่ง ได้แก่
รพ.จุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร, รพ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี, รพ.ราชวิถี 2 (รังสิต) จ.ปทุมธานี, รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
และโรงพยาบาลภาคเอกชน 3 แห่ง ได้แก่ รพ.วัฒนแพทย์สมุย จ.สุราษฎร์ธานี, รพ.พญาไทศรีราชา 2 จ.ชลบุรี และ รพ.ราชธานี หนองแค จ.สระบุรี
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ พิจารณาปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน นับว่าเป็นความโชคดีและเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ประกันตนทั่วประเทศในกรณีที่ผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง ซึ่งบอร์ดมีมติเอกฉันท์ปรับเพิ่มเงินทดแทน ในกรณีว่างงานจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 60 ของรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน